สำนักชลประทานที่ 11
 
 
 
 

 
 


 
กรมชลประทานต่อยอดงานวิจัยการกำจัดวัชพืช โดยพัฒนาเรือเก็บวัชพืชขนาดเล็กแทนแรงงานคนในคลองขนาดเล็ก  
 



กรมชลประทานต่อยอดงานวิจัยการกำจัดวัชพืช โดยพัฒนาเรือเก็บวัชพืชขนาดเล็กแทนแรงงานคนในคลองขนาดเล็ก ควบคู่ไปกับเรือเก็บวัชพืชขนาดใหญ่ที่ทำอยู่แล้ว เผย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้เร่งผลิตใช้งาน หลังเห็นผลงานวิจัยต้นแบบ เพราะเก็บผักตบชวาได้ลำละ 58 ตัน/วัน ลดค่าใช้จ่ายถึง 30% แถมราคาผลิตเพียงลำละ 3.5 แสนบาท กรมชลประทานประเดิมผลิต 50 ลำ ในปีนี้ และเพิ่มอีก 115 ลำ ในปี 2560
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมนำนวัตกรรมเรือเก็บวัชพืชน้ำ เพื่อกำจัดผักตบชวาในคลองขนาดเล็ก ซึ่งเรือเก็บวัชพืชขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าทำงานได้ ทำให้ผักตบชวาแพร่ขยายพันธุ์ครอบคลุมแหล่งน้ำ เป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลาก ผักตบชวาจะไหลไปกองปิดกั้นทางน้ำชลประทาน เช่น ประตูระบายน้ำ หรือตามเสาตอม่อใต้สะพาน 
“พอเข้าฤดูฝน น้ำหลากก็พัดพาเอาวัชพืช โดยเฉพาะผักตบชวามากองเป็นผืนใหญ่ ซึ่งจะทำให้อัตราการไหลของน้ำช้าลง 40% ซ้ำร้ายผลการศึกษายังพบด้วยว่า ผักตบชวาทำให้เกิดการสูญเสียน้ำจำนวนมาก เพราะดูดน้ำไปหล่อเลี้ยงตัวเองมากถึง 4 เท่าของอัตราการระเหยของน้ำ จึงต้องพยายามกำจัดออกไปให้ได้มากที่สุด”
รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ปกติแล้วกรมชลประทานใช้เรือเก็บวัชพืชขนาดใหญ่ดำเนินการเก็บผักตบชวาในแหล่งน้ำขนาดใหญ่อยู่แล้ว เช่น อ่างเก็บน้ำ หรือคลองขนาดใหญ่ แต่ในคลองขนาดเล็ก ความกว้างคลองน้อยกว่า 10 เมตร ไม่อาจใช้เรือเก็บวัชพืชขนาดใหญ่ได้ ต้องอาศัยแรงงานคนเข้าดำเนินการ ซึ่งทำได้ในปริมาณจำกัดและมีค่าใช้จ่ายสูง
“อย่างเรือเก็บวัชพืชขนาดเล็กที่จะใช้งานนี้ มีขีดความสามารถเก็บผักตบชวาได้ลำละ 58 ตัน/วัน (7 ชั่วโมงทำงาน) ต้นทุนตันละ 26.80 บาท เทียบกับต้นทุนที่ใช้แรงคนตันละ 39.15 บาท เท่ากับลดต้นทุนเก็บตันละ 13 บาท คิดเป็น 30%”
เรือเก็บวัชพืชขนาดเล็ก 2x5.5 เมตร เป็นผลงานวิจัยของสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน และร่วมพัฒนารูปแบบกับกรมอู่ทหารเรือด้วยวัสดุไฟเบอร์กลาส โดยได้นำเรือต้นแบบไปแสดงในงานนิทรรศการเงินทุนหมุนเวียน เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 ที่เมืองทองธานี ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สนใจซักถามความเป็นมาของผลงานวิจัยชิ้นนี้ และสั่งการให้เร่งผลิตเพื่อเก็บผักตบชวาที่เป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ โดยกรมชลประทานได้วางแผนผลิต 50 ลำ ในปี 2559 และเพิ่มเป็น 115 ลำ 
ในปี 2560 ใช้ต้นทุนในผลิตราคาลำละ 3.5 แสนบาท
 

คณะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี            ตรวจราชการดูงานการบริหารจัดการน้ำ ณ ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ สำนักชลประทานที่ ๑๑ ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ โดย นายชลิต  ดำรงศักดิ์  อธิบดี กรมชลประทาน
คณะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ตรวจราชการดูงานการบริหารจัดการน้ำ ณ ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ โครงการ...  
   
 
Copyright 2551 Irrigation Office 11 Bang Talat, Pak Kret, Nonthaburi 11120.
    All visitors.  
Since January 4, 2553.