สำนักชลประทานที่ 11
 
 
 
 

 
 


 
ลงพื้นที่ดูงานของกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดี  
 



วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ดูงานของกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดี ตำบลศาลาดิน อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในการนำผักตบชวามาแปรรูปทำดินพร้อมปลูก เพื่อส่งขายสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ด้วยการนำผักตบชวาที่เป็นวัชพืชทางน้ำ ไปแปรรูปและใช้ประโยชน์สร้างรายได้และอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำได้ โดยมี นายพงศ์ศักดิ์  อรุณวิจิตรสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 พร้อมด้วย ผู้อำนวยการโครงการ หัวหน้าฝ่าย และเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 11เข้าร่วม และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ ได้นำ นายเด่นวันชัย  สำราญราชฏ์ ประธานคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) คลองระพีพัฒน์แยกใต้ ในเขตโครงการฯ รังสิตเหนือ นายพรสันต์ ชูเทพ กรรมการ JMC ร่วมศึกษา ดูงานโดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าผักตบชวา เพื่อนำความรู้ไปปรับใช้ในพื้นที่  ในการนี้มี นายวันชัย สวัสดิ์แดง กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดี เป็นวิทยากรบรรยาย และนำชมสถานที่ผลิต

ทั้งนี้ นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญของการดำเนินการกำจัดผักตบชวา โดยได้กำหนดแนวทางการบูรณาการแผนการกำจัดผักตบชวา เพื่อให้การแก้ไขปัญหาผักตบชวาโดยประชาชนในพื้นที่แหล่งน้ำ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ กิจกรรม Kick Off กำจัดผักตบชวาและวัชพืช ตามนโยบายคลองสวยน้ำใส และหน้าบ้านน่ามอง จึงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาผักตบชวาวัชพืชทางน้ำที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและทำลายระบบนิเวศเสียหายเนื่องจากดูดซับสารอาหารทำให้น้ำเน่าเสียและส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำเนื่องจากขาดออกซิเจน อีกทั้งเป็นตัวการกีดขวางทางน้ำอีกด้วย กรมชลประทาน ได้สนองนโยบายของรัฐบาล โดยการนำผักตบชวาที่เป็นวัชพืชทางน้ำ ไปแปรรูปและใช้ประโยชน์สร้างรายได้และอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ อย่างในพื้นที่ตำบลศาลาดิน อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดี ได้นำผักตบชวามาแปรรูปทำดินพร้อมปลูก เพื่อส่งขายสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี สำหรับการนำผักตบชวาที่เก็บได้จากแม่น้ำหรือคลองต่างๆมาใช้ในการทำดินพร้อมปลูกผสมผักตบชวาของกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดี นั้น จะเริ่มจากการรับซื้อผักตบชวาตากแห้งจากชาวบ้าน ที่นำผักตบชวาไปสับก่อนนำไปตากแดดเป็นเวลา 3 วัน ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท จากนั้นนำผักตบชวาตากแห้งมาผสมกับกาบมะพร้าวสับ แกลบดิบ ขี้เถ้าแกลบ และดินบดละเอียดในอัตราส่วนที่เท่ากัน เช่น ถ้าใช้กระป๋องตวง ก็ให้ใช้ส่วนผสมอย่างละ 1 กระป๋องเท่ากัน ได้เป็นดินพร้อมปลูกผสมผักตบชวาที่เหมาะแก่การปลูกพืชได้ทุกชนิด ก่อนบรรจุใส่ถุงจำหน่าย ส่งขายให้กับห้างสรรพสินค้าทั่วไป ในราคาถุงละ 10 บาท หักเข้ากลุ่มฯ 1 บาท เป็นค่าตอบแทนคนทำถุงละ 2 บาท ชาวบ้านที่ทำผักตบมาขายให้กับกลุ่มฯ จะมีรายได้ตั้งแต่ 2,000 - 6,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันมียอดขายดินพร้อมปลูกกว่า 5,000 ถุง/เดือน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด           "ทั้งนี้ ผักตบชวาที่เก็บขึ้นมาจากคลอง 25 กิโลกรัม จะนำมาทำผักตบชวาตากแห้งได้ 1 กิโลกรัม ผักตบชวาสด 1 ไร่ ได้น้ำหนักที่ 40 ตัน ชาวบ้านที่เก็บผักตบชวามาขาย 1 ไร่ จะได้เงินประมาณ 32,000 บาท โดยที่ผ่านมามีการรับซื้อ ผักตบชวาแห้งเฉลี่ยปีละ 72,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1.44 ล้านบาท สามารถช่วยรัฐกำจัดผักตบชวาตามลำคลองได้กว่า 1,800 ตัน/ปี" การนำผักตบชวามาแปรรูปสร้างมูลค่าและผลิตภัณฑ์ส่งขาย นอกจาก จะเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรและประชาชนแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบดูแลความสะอาดแม่น้ำลำคลองในพื้นที่อาศัยของตนได้อีกด้วย ทั้งนี้ กรมชลประทานพร้อมที่จะขยายผลแนวทางดังกล่าวไปยังกลุ่มบริหารการใช้น้ำอื่นๆ ทั่วประเทศอีกกว่า 2,700 กลุ่ม
 

คณะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี            ตรวจราชการดูงานการบริหารจัดการน้ำ ณ ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ สำนักชลประทานที่ ๑๑ ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ โดย นายชลิต  ดำรงศักดิ์  อธิบดี กรมชลประทาน
คณะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ตรวจราชการดูงานการบริหารจัดการน้ำ ณ ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ โครงการ...  
   
 
Copyright 2551 Irrigation Office 11 Bang Talat, Pak Kret, Nonthaburi 11120.
    All visitors.  
Since January 4, 2553.